มาเรียนรู้เพิ่มเติม เกี่ยวกับการเจริญเติบโตผิดปกติกันเถอะ

ข้อมูลในหน้านี้จะช่วยแนะนำให้คุณทราบเกี่ยวกับสัญญาณ และวิธีรักษาการเจริญเติบโตผิดปกติ

ไม่ว่าลูกน้อยของคุณจะอายุเท่าไหร่ คุณควรตรวจสอบดูให้แน่ใจว่าลูกกำลังเติบโตอย่างที่ควรจะเป็น หากการเจริญเติบโตของลูกไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่คาดหวัง คุณควรตระหนักว่านี่อาจเป็นสัญญาณของการเจริญเติบโตผิดปกติ

การเจริญเติบโตบกพร่องคืออะไร?

สัญญาณต่อไปนี้บ่งชี้ว่าลูกของคุณไม่ได้เจริญเติบโตอย่างที่ควรเป็น

เสื้อผ้าเก่าโทรมก่อนที่ตัวจะโตจนใส่ไม่ได้

ตัวเตี้ยกว่าเพื่อน หรือเพื่อนร่วมชั้น

มักถูกทักว่า เด็กกว่าอายุจริง

มักถูกเด็กคนอื่นล้อเรื่องความสูง

เตี้ยกว่าคุณหรือพี่น้องตอนอายุเท่ากัน

การเจริญเติบโตบกพร่องหมายถึงอะไรบ้าง?

การเจริญเติบโตผิดปกติไม่ใช่แค่เรื่องความสูง เพราะเป็นเรื่องของสุขภาพด้วย อาการผิดปกติดังกล่าวควรได้รับการวินิฉัยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะอาจเกี่ยวข้องกับปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรง อาทิ:

โรคหัวใจ

พัฒนาการเรียนรู้

สายตา

ความสามารถในการได้ยิน

ระบบทางเดินหายใจ

กระดูก

การพัฒนาของไต

ระบบภูมิคุ้มกัน

องค์ประกอบของร่างกาย

การเจริญเติบโตผิดปกติและสาเหตุ

การเจริญเติบโตผิดปกติคืออะไร?

การเจริญเติบโตผิดปกติเป็นภาวะทางสุขภาพที่ส่งผลกระทบต่อความสูง น้ำหนักและ (ในบางกรณี) พัฒนาการทางเพศของผู้ที่มีอาการดังกล่าว การเจริญเติบโตผิดปกติมีหลายประเภท แต่ละประเภทเกิดขึ้นด้วยปัจจัยที่แตกต่างกันไป แต่เกือบทุกประเภทก่อให้เกิดภาวะการเจริญเติบโตบกพร่อง และปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ดังนั้น หากไม่เข้ารับการรักษา ผู้ที่มีการเจริญเติบโตผิดปกติอาจต้องเผชิญกับโรคอื่น ๆ เพิ่มเติมในอนาคตด้วย

การเจริญเติบโตเป็นกระบวนการทางชีววิทยาที่เป็นผลสืบเนื่องจากพันธุกรรม โภชนาการ สภาพแวดล้อม สุขภาพ ฮอร์โมนและโกรทแฟคเตอร์ (โปรตีนที่กระตุ้นการเติบโตของเซลล์) และถือเป็นส่วนสำคัญของพัฒนาการเด็ก รวมถึงเป็นข้อบ่งชี้ด้านสุขภาวะ
หากคุณสังเกตเห็นว่าลูกไม่ได้เจริญเติบโตอย่างที่ควรเป็น พึงทราบว่าอาจมีสาเหตุอยู่เบื้องหลัง

โกรธฮอร์โมนคืออะไร สำคัญอย่างไร?

โกรทฮอร์โมน เป็นสารสื่อเคมีที่หลั่งออกมาจากส่วนของสมองที่เรียกว่า “ต่อมใต้สมอง” มีหน้าที่ช่วยเพิ่มความสูงให้แก่เด็ก ๆ รวมถึงส่งสารแจ้งให้เกือบทุกส่วนของร่างกายทำงานและเจริญเติบโต ไม่ว่าจะเป็นกล้ามเนื้อ กระดูก หัวใจหรือแม้แต่สมอง ดังนั้น จึงมีผลต่อการทำงานของหัวใจ ความฉับไวในการคิดอ่านและการเปลี่ยนแปลงตามวัย
หากร่างกายมีโกรทฮอร์โมนน้อยเกินไป อาจจะส่งผลให้มีการเจริญเติบโตน้อยกว่าที่ควรเป็นรวมถึงก่อให้เกิดโรคอื่น ๆ อีกมากมาย

ทำไมบางคนถึงมีการเจริญเติบโตผิดปกติ?

การเจริญเติบโตเป็นเรื่องซับซ้อน ในบางกรณี กระบวนการที่มีผลต่อการเจริญเติบโตอาจมิได้ทำงานอย่างปกติ ยกตัวอย่างเช่นบางส่วนของสมอง อาทิ ต่อมใต้สมองซึ่งทำหน้าที่หลั่งโกรธฮอร์โมน อาจได้รับผลกระทบจากปัจจัยทางพันธุกรรม นอกจากนี้แล้ว ทารกที่อยู่ในครรภ์ยังมีความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับฮอร์โมนบางอย่างระหว่างอยู่ในครรภ์มารดา
อ่านต่อเพื่อเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับ “การเจริญเติบโตผิดปกติประเภทต่าง ๆ”

จะรักษาการเจริญเติบโตผิดปกติอย่างไร?

การรักษาจะแตกต่างกันไปตามแต่ประเภทของการเจริญเติบโตผิดปกติ โดยการรักษามีทั้งการรักษาทางการแพทย์และจิตบำบัด
ในหลายกรณี การรักษาจะเป็นแบบผสมผสาน

การรักษาทางการแพทย์

ในบางกรณี จะมีการให้โกรทฮอร์โมนเพื่อทดแทนที่ร่างกายผลิตโกรทฮอร์โมนได้น้อยกว่าปกติหรือไม่ได้ผลิตฮอร์โมนดังกล่าว โดยทั่วไป จะดำเนินการด้วยการฉีดโกรทฮอร์โมนเข้าสู่ชั้นใต้ผิวหนังเพื่อช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของผู้ที่เข้ารับการรักษาซึ่งอาจเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ก็ได้

การดูแลรักษาในด้านอื่น

ในบางกรณี การรักษาการเจริญเติบโตผิดปกติต้องรักษาหลายอย่างพร้อมกัน ตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยกลุ่มอาการเทอร์เนอร์อาจต้องรับโกรทฮอร์โมนควบคู่กับฮอร์โมนชนิดอื่นด้วยเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคอื่นตามมา

จิตบำบัด

การเจริญเติบโตผิดปกติมีผลกระทบต่อทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต เด็กและผู้ดูแลจึงอาจจำเป็นต้องปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตเพื่อให้สามารถจัดการกับปัญหาทางอารมณ์และสังคมที่พวกเขาจำต้องเผชิญ ที่สำคัญ การเจริญเติบโตผิดปกติบางประเภทอาจก่อให้เกิดอาการทางประสาท ผู้ป่วยจึงต้องรับการบำบัดจิตและพฤติกรรมตามความเหมาะสม

กายภาพบำบัด

ผู้ที่มีการเจริญเติบโตผิดปกติบางคนอาจมีความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและความหนาแน่นของกระดูกในระดับต่ำ ในกรณีนี้ นักกายภาพบำบัดสามารถช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ การเคลื่อนไหวและลดความเจ็บปวด (ถ้ามี) ให้ผู้ป่วยได้

การออกกำลังกาย

การเจริญเติบโตผิดปกติบางประเภท อาทิ กลุ่มอาการเทอร์เนอร์อาจมีระดับความหนาแน่นของแร่ธาตุในกระดูกต่ำ ดังนั้น นอกจากรับการรักษาทางการแพทย์แล้ว ผู้ป่วยควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อดูแลให้ระดับความหนาแน่นของแร่ธาตุในกระดูกอยู่ในระดับปกติ

นักโภชนาการ / นักกำหนดอาหาร:

กาวะการเจริญเติบโตผิดปกติบางประเภท อาทิ กลุ่มอาการพราเดอร์-วิลลี่ อาจทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นหรือเป็นโรคอ้วนในที่สุด ในกรณีดังกล่าว ผู้ป่วยควรขอรับคำแนะนำจากนักโภชนาการหรือนักกำหนดอาหาร

ประเมินการเจริญเติบโตของลูก

การสังเกตการเจริญเติบโตของลูกน้อยถือเป็นเรื่องสำคัญเพื่อให้ทราบถึงปัญหา (ถ้ามี) ตั้งแต่เริ่มมีอาการ เราขอแนะนำให้คุณวัดความสูงของลูกทุกๆ 6 เดือน ซึ่งจะทำได้ง่ายดายยิ่งขึ้น เมื่อคุณใช้เครื่องประเมินการเจริญเติบโตของเรา